น้ำพระทัยอันงดงาม พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการสงวนต้นน้ำลำธารและสัตว์ป่า บาลา-ฮาลา ผืนป่าดงดิบใต้สุดแดนสยาม ในอดีตบ้านฮาลา ประกอบด้วย 4 กลุ่มบ้าน คือ บ้านมาแฮ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มบ้าน คือ กลุ่มบ้านตะวันตกและกลุ่มบ้านตะวันออก กลุ่มบ้านราแงะ กลุ่มบ้านนาแง อยู่ระหว่างเขตอำเภอเบตง กับ อำเภอธารโต ในปี พ.ศ. 2496 ทางราชการได้อพยพชาวบ้านฮาลา จำนวน 200 กว่าคนออกจากหมู่บ้าน เนื่องจากปัญหาโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา ( จคม. ) ทางราชการจึงประกาศให้หมู่บ้านดังกล่าวเป็นพื้นที่สีแดง เพื่อสะดวกในการปราบปรามของฝ่ายเจ้าหน้าที่ ทางราชการก็ได้จัดสรรพื้นที่ทำกินให้ชาวบ้านฮาลาตั้งถิ่นฐานใหม่ ณ บริเวณ บ้าน กม.36 ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

ซึ่งจากการประชุมปรึกษาหารือถึงผลกระทบ หากอนุญาตให้ราษฎรเข้าไปทำกินในพื้นที่ป่าฮาลา พบว่าจะส่งผลกระทบต่อการก่อให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร โดยเฉพาะพื้นที่ดังกล่าวได้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ใต้สุดแดนสยาม มีผืนป่าดิบชื้นผืนใหญ่ มีแนวเขตต่อกับป่าตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย มีชื่อเรียกว่า “บาลา-ฮาลา” เป็นภาษาพื้นเมืองมาลายู คำว่า “บาลา” แปลว่า กลุ่มคน ส่วนคำว่า “ฮาลา” แปลว่า ทิศทางมุ่งไปสู่ เมื่อนำสองคำมารวมกัน “บาลา-ฮาลา” จึงแปลว่า ทิศทางการอพยพของกลุ่มคน บาลาคือพื้นที่ป่าดิบชื้นในจังหวัดนราธิวาส ฮาลา คือพื้นที่ป่าดิบชื้น ในจังหวัดยะลา

โครงการสวนป่าพระนามาภิไธยภาคใต้ ส่วนที่ 2 (ป่าบาลา-ฮาลา) สนองพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการสงวนต้นน้ำลำธารและสัตว์ป่า ในปัจจุบันป่าบาลา-ฮาลา ยังคงความเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ และถือเป็นป่าพรหมจรรย์ของภาคใต้ สภาพพื้นที่บริเวณบ้านฮาลา ในปัจจุบันสภาพป่าได้ถูกฟื้นฟูขึ้นมาจนสมบูรณ์ มีลำธาร 2 สายรวมกันเป็นคลองฮาลา หลังจากนั้นจังหวัดยะลาได้ดำเนินการกำหนดพื้นที่ป่าถาวร ป่าฝั่งขวาแม่น้ำปัตตานี ตำบลอัยเยอร์เวง และ ตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เนื้อที่ 324.625 ไร่ เป็นป่าสงวนแห่งชาติ โครงการสวนป่าพระนามาภิไธยภาคใต้ส่วนที่ 2

ป่าฮาลา-บาลา กับ ตำรวจตระเวนชายแดน จากการลาดตระเวนภูมิประเทศทางอากาศ พบว่าพื้นที่ป่าบาลา-ฮาลา เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้ขนาดใหญ่อยู่เป็นจำนวนมาก แต่บริเวณโดยรอบพบการบุกรุกโดยทั่วไป ซึ่งได้พิจารณาแล้วเห็นว่าหากปล่อยไว้เช่นนี้ ป่าไม้ผืนสำคัญของภาคใต้แห่งนี้ อาจจะถูกบุกรุกทำลาย และด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและความรับผิดชอบต่อภารกิจของตำรวจตระเวนชายแดน

วันที่ 19 เมษายน 2535 กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44 โดยกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 445 ได้จัดชุดปฏิบัติการขนาดเล็ก ปฏิบัติภารกิจในการลาดตระเวน เฝ้าตรวจ ตรวจสอบ ป้องกันและปราบปรามการลักลอบทำลายทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ปฏิบัติงานในลักษณะการจรยุทธ์ การเคลื่อนย้ายกำลังเข้าที่หมาย ในครั้งแรก ๆ ใช้เฮลิคอปเตอร์ของกองบินตำรวจ โดยจุดรวมพลขั้นต้น ณ กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 445 และเดินทางไปยังจุดส่งลงบริเวณพื้นที่ป่าฮาลา โดยเรียกฐานปฏิบัติการนี้ว่า “ฐานปฏิบัติการดาหลา”

วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 วันที่กำลังพลในสังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44 ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งที่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44 จัดถวาย ทอดพระเนตร สภาพป่า พื้นที่สวนป่าพระนามาภิไธยภาคใต้ ส่วนที่ 2 (ป่าบาลา-ฮาลา) และทรงเยี่ยมกำลังพลชุดปฏิบัติการพิทักษ์ป่าบาลา-ฮาลา ณ ฐานปฏิบัติการจุดสกัด พระราชทานถุงยังชีพ

โดยมี ผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 4 และผู้บังคับกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 445 กล่าวถวายบรรยายสรุปและทรงรับทราบปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติงาน ทรงมีรับสั่งกับผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 4 ว่าให้ตำรวจตระเวนชายแดนช่วยกันดูแลผืนป่าแห่งนี้ไว้อย่าให้ถูกทำลาย และเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2539 ทรงรับสั่งให้ผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 4, ผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44 และผู้บังคับกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 445 เข้าเฝ้า ณ เรือนประทับแรมเขื่อนบางลาง และพระราชทานเงิน จำนวน 30,000 บาท

ในการจัดสร้างเรือไว้ปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวนพิทักษ์ป่าบาลา-ฮาลา ความทราบถึง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2539 โดยได้พระราชทานวิทยุไซด์แบนพร้อมอุปกรณ์ เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารในการปฏิบัติภารกิจได้ตลอดเวลา เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2543 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งจากเขื่อนบางลางทอดพระเนตรสภาพป่า และทรงเยี่ยมชุดปฏิบัติการพิทักษ์ป่า สวนป่า พระนามาภิไธย บาลา-ฮาลา

และเมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2543 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งจากพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เยี่ยมชุดปฏิบัติการพิทักษ์ป่า สวนป่าพระนามาภิไธยภาคใต้ ส่วนที่ 2 (ป่าบาลา-ฮาลา) ทรงศึกษาพรรณไม้ต่างๆ โดยมีผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนและชุดปฏิบัติการพิทักษ์ป่าบาลา-ฮาลา เฝ้ารับเสด็จ อย่างใกล้ชิด

โครงการสวนป่าพระนามาภิไธยภาคใต้ส่วนที่ 2 (ป่าบาลา-ฮาลา) ได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนรู้ถึงคุณค่าของป่าไม้ ได้ศึกษาธรรมชาติของป่า และการเพาะพันธุ์ไม้ ตลอดจนมีจิตสำนึกช่วยกัน ปกป้องหวงแหน และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ และสัตว์ป่า อันจะนำมาซึ่งประโยชน์ทั้งในด้านการพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน นักท่องเที่ยว ผู้ซึ่งนิยมธรรมชาติ ก่อให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศน์และดำรงไว้ซึ่งคุณค่าสิ่งแวดล้อม ซึ่งกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44 มอบหมายให้กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 445 ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ จัดตั้งแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติเพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษาประชาชน ที่ได้เดินทางเข้ามาเยี่ยมชมความงามของป่าบาลา-ฮาลา

อีกทั้งยังมีความรู้ความเข้าใจปลูกฝังจิตสำนึกแก่ชาวบ้านโดยรอบให้เกิดความหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ เห็นคุณค่าของป่าไม้ ช่วยกันป้องกันและปราบปรามการลักลอบทำลายป่า กองบัญชาการตํารวจตระเวนชายแดน สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา (12 สิงหาคม) ประจำปี 2564