บทที่ 12

วิธีปฏิบัติเมื่อข้าราชการตำรวจกระทำผิดทางอาญา

-----------------

ข้อ 1 เมื่อข้าราชการตำรวจผู้ใดต้องหาว่ากระทำผิดอาญา ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย      เว้นแต่เมื่อข้าราชการกระทำผิดต่อกันเองจะเป็นกรณีเรื่องใด ก็ตามซึ่งไม่มีบุคคลภายนอกวงการตำรวจเป็นผู้เสียหาย หรือมีบุคคลภายนอกเป็นผู้เสียหายแต่ผู้เสียหายไม่ประสงค์จะให้ดำเนินคดี      แม้ข้อกล่าวหานั้นจะเป็นผิดต่อกฎหมายซึ่งมีโทษทางอาญาอยู่บ้างก็ตาม           ให้  ผู้บังคับบัญชาสั่งตั้งกรรมการขึ้นสอบสวนเป็นภายใน   เพื่อพิจารณาทางการปกครองบังคับบัญชาเสียชั้นหนึ่งก่อน  (เว้นแต่การกระทำผิดเฉพาะหน้าซึ่งได้มีระเบียบอยู่แล้วว่าไม่ต้องตั้งกรรมการ)   ถ้าการพิจารณาเห็นว่าการกระทำผิดนั้นเป็นการสมควรที่จะลงโทษในทางการปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวินัยตำรวจ   หรือกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน ก็ดำเนินการไปให้เหมาะสมกับรูปเรื่องแห่งความผิดนั้นๆ แต่ถ้าเห็นว่ากระทำผิดเรื่องเป็นการสมควรที่จะดำเนินคดีเพื่อฟ้องร้องยังศาล ก็ให้ส่งสำนวนการสอบสวนเรื่องนั้นๆ   ไปยังผู้บังคับบัญชาเจ้าสังกัดโดยด่วนเพื่อพิจารณาสั่งการ      เมื่อผู้บังคับบัญชาเห็นสมควรเสนอผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปเพื่อพิจารณาสั่งก็ให้เสนอได้

            ถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมผู้ต้องหาในกรณีพิจารณาทางวินัย          ให้ผู้บังคับบัญชาใช้ดุลพินิจให้เหมาะสมกับรูปเรื่อง ว่าสมควรจะควบคุมกันเพียงใดหรือไม่ ถ้าจำเป็นจะต้องควบคุมให้ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยตำรวจ       และให้พึงระลึกไว้ด้วยว่าการควบคุมนี้ควรใช้เฉพาะกรณีที่เห็นว่าจำเป็นต้องควบคุมจริงๆ   เพราะถ้าได้ทำการควบคุมไว้แล้วหากภายหลังผู้บังคับบัญชาเหนือสั่ง ให้ดำเนินคดี และถ้าศาลลงโทษจำคุก ศาลอาจนับวันควบคุมรวมเข้ากับกำหนดโทษจำคุกได้ไม่ซึ่งเป็นผลให้เกิดการเสียหายแก่ผู้ต้องหา

            ข้อ2   ถ้าตำรวจผู้ใดต้องหาคดีอาญา     เพราะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์       หรือถูกแกล้ง กล่าวหาให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาหาทางช่วยเหลือให้ได้รับความเป็นธรรมจนเต็มความสามารถเท่าที่จะทำได้   ถ้าถึงต้องฟ้องร้องก็ให้จัดการขอให้พนักงานอัยการเป็นทนายแก้ต่างให้เฉพาะในเขตตำรวจนครบาลให้รายงานถึงกรมตำรวจส่วนนอกเขตนครบาล ให้ผู้บังคับบัญชาชั้นผู้กำกับขึ้นไปจัดการ

            ข้อ3  ตำรวจผู้ใดต้องหาคดีอาญา  เพราะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต      หรือถูกแกล้งกล่าวหา ไม่ต้องพิจารณาทัณฑ์ทางวินัยอย่างใดอีกเว้นแต่ต้องโทษจำคุกอันจะต้องปลด   หรือ ไล่ออกตามกฎหมายก็ให้เป็นไปตามนั้น

            ข้อ 4  ถ้าปรากฏโดยชัดเจนว่า ตำรวจผู้ใดที่ปฏิบัติการตามหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต   หรือถูกแกล้งกล่าวหา แล้วถูกศาลพิพากษาลงโทษจนถึงกับต้องออกจากราชการไป     เมื่อพ้นโทษแล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาเสนอเหตุผลตามลำดับจนถึงกรมตำรวจ     พร้อมด้วยสำเนาคำพิพากษา ถ้ากรมตำรวจเห็นสมควรให้กลับเข้ารับราชการก็จะได้จัดการให้ได้กลับเข้ารับราชการต่อไป

           

ข้อ 5 ตำรวจที่ถูกกล่าวหาคดีอาญาในเหตุอื่น นอกจากที่กล่าวตามข้อ 3 หรือซึ่งถูกตั้งกรรมการสอบสวนตามข้อ  1   ของบทที่ 12   เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว       ให้ผู้บังคับบัญชาจัดตั้งกรรมการสอบสวนพิจารณาทางวินัยเพื่อพิจารณาสั่งการไปประการใดแล้วรายงานให้กรมตำรวจทราบ

        ข้อ 6  ถ้าตำรวจต้องหาว่ากระทำผิดทางอาญาในกรณี ร้ายแรง      ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะให้คงรับราชการในหน้าที่ตำรวจสืบไป  จะพิจารณาทัณฑ์ทางวินัยเพื่อไล่ออก     ปลดออกหรือให้ออกเสียก่อนแล้วจึงจัดการฟ้องศาลก็ได้  แต่ในกรณีดังกล่าวนี้ให้กระทำต่อเมื่อมีหลักฐานอันแน่ชัดที่ควรเชื่อถือได้จริง ๆ ว่าได้กระทำผิดในกรณีร้ายแรงเท่านั้น

            ข้อ 7   ข้าราชการตำรวจซึ่งอยู่ในระหว่างถูกกล่าวหาในคดีอาญาก็ดี    ทางวินัยก็ดี     ห้ามมิให้ผู้บังคับบัญชาแนะนำหรือบีบบังคับให้ผู้ถูกกล่าวหาลาออก

 

บทที่ 13

การรายงานเมื่อต้องคดี

-------------

        ข้อ 1  เมื่อข้าราชการต้องคดี ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการกรมตำรวจหรือไม่  จะต้องรายงานให้ทางราชการทราบการรายงานจำแนกได้เป็น  2  กรณีคือ การรายงานตนและการรายงานเหตุการณ์เกี่ยวกับการต้องคดี

            ข้อ 2  เมื่อข้าราชการตำรวจต้องคดี ต้องปฏิบัติในการรายงานตน    ดังนี้

                (1) การรายงานตนให้รายงานเมื่อต้องหาคดีอาญา หรือถูกฟ้องศาลคดีแพ่งหรือคดีล้มละลายหรือถูกยึดทรัพย์ตามคำพิพากษาของศาล  ครั้งแรกให้รายงานเมื่อถูกสอบสวนหรือถูกฟ้อง หรือถูกยึดทรัพย์โดยชี้แจงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นโดยละเอียดภายใน  3  วัน     นับตั้งแต่วันถูกจับหรือถูกเรียกตัวไปสอบสวนหรือวันรับหมายศาล  หรือวันที่ถูกยึดทรัพย์เมื่อคดีนั้นคืบหน้าไปประการใด   ให้รายงานอีกตามลำดับจนกว่าคดีจะถึงที่สุด  หัวข้อที่จะรายงานให้รายงานโดยละเอียดพอที่ผู้รับรายงานจะทราบเรื่องได้ดี

            สำหรับข้าราชการตำรวจประจำการ  ให้รายงานตามลำดับชั้นถึงกรมตำรวจ

            สำหรับข้าราชการตำรวจนอกประจำการซึ่งรับบำนาญให้รายงานตรงต่อกรมตำรวจ

            ข้อ 3   การรายงานเหตุการณ์เกี่ยวกับการต้องคดี   เมื่อข้าราชการต้องคดีรวมทั้งข้าราชการนอกสังกัดกรมตำรวจด้วย ให้พนักงานสอบสวนและผู้บังคับบัญชาแล้วแต่กรณีจัดการรายงานดังต่อไปนี้

            (1)ถ้าเป็นข้าราชการบำนาญหรือเบี้ยหวัดไม่ว่าสังกัดกระทรวงทบวงกรมใดรวมทั้งกรมตำรวจด้วยต้องหาคดีอาญา  ให้พนักงานสอบสวนรายงานตามลำดับจนถึงกรมตำรวจ               เพื่อแจ้งไปยังกรมบัญชีกลางทราบต่อไป

            (2) ถ้าเป็นข้าราชการประจำการสังกัดกระทรวงทบวงกรมอื่น    ให้พนักงานสอบสวนรายงานตามลำดับจนถึงกรมตำรวจ   เฉพาะกรณีที่มีมูลพอที่จะส่งฟ้องศาลได้เท่านั้นเว้นแต่ในส่วนภูมิภาคให้รายงานตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจสั่งพักราชการได้

            เมื่อมีการจับกุมทหารหรือเมื่อทหารเป็นผู้กล่าวหาขอให้แจ้งยศ   ชื่อ    นามสกุล  ตำแหน่งและสังกัด      ให้ถูกต้องเพื่อความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ที่จะค้นหาหลักฐานและความรวดเร็วที่จะให้กิจการดำเนินไปโดยไม่ชักช้า

(หนังสือกระทรวงกลาโหมที่ กห. 22920/2502  ลงวันที่ 28 ต.ค.2502   ส่งโดยแจ้งความที่ 37/2502)

            ส่วนพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ           ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐนั้น               เมื่อต้องคดีให้รายงานเช่นเดียวกับการรายงานข้าราชการประจำเฉพาะกรณีที่มีมูล พอที่จะส่งฟ้องศาลได้เท่านั้น

( คำสั่งที่ 14/2504 ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2504 )

            (3) การรายงานให้ปรากฏข้อความสำคัญดังต่อไปนี้โดยละเอียดด้วยคือ

            ก.ชื่อตัวและชื่อสกุลของผู้ถูกกล่าวหาและผู้ต้องหา

            ข.สถานที่และวันเดือนปีเกิดเหตุ

            ค. คดีมีข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดฐานใด        ก็เป็นกรณีเกี่ยวแก่ทรัพย์ก็ให้ปรากฏจำนวนทรัพย์เสียหายมากน้อยเท่าใด   ถ้าเป็นกรณีเกี่ยวแก่ประทุษร้ายต่อชีวิต  หรือร่างกาย ก็ให้ปรากฏชัดเจนว่าถึงตายเพราะถูกทำร้ายหรือเหตุอื่นใด ในเรื่องบาดเจ็บควรลงให้ชัดว่าบาดเจ็บอย่างไร แพทย์ลงความเห็นว่ารักษากี่วันหายและถึงสาหัสเพียงใดหรือไม่

            ง. ผู้ต้องหาถูกจับเมื่อใดถูกควบคุมอยู่หรือให้ประกันไปแต่เมื่อใด

            จ.ผู้ต้องหาเป็นข้าราชการประเภทใด ชั้นใด ดำรงตำแหน่งหน้าที่อะไรสังกัดกรมกระทรวงใด

            ฉ.พฤติการณ์ของผู้ต้องหาและหลักฐานแห่งกรณีที่เกิดขึ้นมีอย่างไรบ้าง     ให้รายงานด้วย เพื่อประกอบการพิจารณาว่า  ถ้าผู้ต้องหายังคงอยู่ในหน้าที่ราชการจะเสียแก่ราชการในหน้าที่ของผู้ต้องหาหรือไม่ เพื่อผู้บังคับบัญชาของผู้ต้องหาจะได้พิจารณาต่อไป

            (4) การรายงานดังกล่าวแล้วให้รายงานเมื่อมีการจับกุมหรือเรียกตัวมาสอบสวนและ ปรากฏว่ามีมลทินความผิด

            (5) เมื่อคดีถึงที่สุดประการใด ให้รายงานผลคดีให้ทราบพร้อมด้วยหลักฐานคำพิพากษา หรือคำสั่งให้ฟ้องของพนักงานอัยการ

            (6) ถ้าผู้ต้องหาเป็นข้าราชการตำรวจ   นอกจากรายงานตามหัวข้อ (3)       แล้วให้รายงานโดยละเอียดว่าควรตัดเงินเดือนเบี้ยเลี้ยงเพียงไร หรือถ้าเป็นคดีที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ให้รายงานด้วยว่าควรจะให้กลับเข้ารับราชการ หรือไม่  หรือปลดประการใดหรือไม่พร้อมด้วยเหตุผล เว้นแต่กรณีที่ไม่สามารถจะรายงานให้ครบถ้วนในคราวเดียวกันได้ก็ให้แยกรายงานเป็นคนละคราวได้          ทั้งให้รายงานบอกไปให้ชัดเจน

            เมื่อกรมตำรวจได้รับรายงานแล้ว    ถ้าเป็นกรณีข้าราชการตำรวจต้องหาคดีการเมือง         หรือข้าราชการตำแหน่งตั้งแต่ชั้นผู้บังคับกองหรือเทียบเท่าขึ้นไป      ต้องหาคดีอาญานอกจากความผิดฐานประมาท   หรือลหุโทษหรือถูกฟ้องคดีล้มละลาย  หรือถูกฟ้องทางแพ่ง     เนื่องจากการปฏิบัติการตามหน้าที่ต้องรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยทราบด้วย

            (7) เฉพาะกรณีที่การสั่งลงโทษหรือสั่ง  ให้ออกจากราชการตาม    พ.ร.บ.    ระเบียบข้าราชการพลเรือน ก.พ. ได้วางระเบียบในการรายงานและการปฏิบัติไว้เป็นพิเศษ  อีกปรากฏรายชะเอียดตามข้อ 14   ของบทที่  7   ว่าด้วยการรายงานการลงโทษหรือสั่งให้ออกจากราชการสำหรับข้าราชการพลเรือนแล้ว